โยคะในผู้สูงอายุ

เคล็ดลับสูงวัยวันนี้ ทาง HealthDome อยากแนะนำให้จักกับกิจกรรม “โยคะภาวนา” ศาสตร์เพื่อการฝึกฝนให้จิตเป็นสมาธิ ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและใจอย่างสมดุล และส่งผลต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายโดยรวม ซึ่งโยคะภาวนา คือการฝึกโยคะที่มุ่งเน้นการผสานอาสนะต่างๆ เข้ากับการฝึกปราณายามะ เพื่อสร้างดุลภาพของร่างกายและจิตใจ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมสุขภาพทางกายให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้จิตใจสงบ ระงับ ละผ่อนคลาย ก่อให้เกิดสมาธิและปัญญา ทำให้จิตใจผ่องใส ส่งผลต่อความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายโดยรวม ทั้งยังได้เสริมความยืดหยุ่นของร่างกาย ตามหลักอาสนะ ตลอดจนได้ประโยชน์ ต่อสุขภาพจากการบำบัดของอาสนะต่างๆ

สำหรับท่วงท่าในการฝึกโยคะภาวนาไม่ได้มีท่าที่ตายตัว เนื่องจากพอเป็นภาวนา การฝึกต้องเป็นท่าที่เราอยู่ได้อย่างสบาย เพื่อที่เราจะได้รับรู้ในท่าได้ แต่หากเป็นท่ายาก แค่อยู่ในท่าค้างไว้ก็จะเหมื่อย เกร็ง จะให้อยู่แบบจนรับรู้ถึงตัวเรามากมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะในใจผู้ฝึกก็จะนึกถึงว่าเมื่อไรจะคืนท่า แต่ถ้าเป็นท่าที่เขาอยู่ได้สบาย ก็จะไล่ฝึกได้เลยตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ก้ม แอ่น บิด เอียง อาทิเช่น การเอียงศีรษะเอียงไปทางซ้าย ขวา หน้า หลัง แต่ให้จิตอยู่กับลมหายใจ การเหยียดยืดลำตัว แขน ขา เคลื่อนไหวร่างกายให้ครบทุกทิศทาง เป็นต้น

ทั้งนี้ การเริ่มต้นฝึกสำหรับผู้สูงวัยอาจมีการเริ่มต้นด้วยท่าง่ายๆ และมีอุปกรณ์ช่วยในการฝึก เช่น เบาะรองนั่ง เก้าอี้ หรือใช้ผนังช่วยในบางอาสนะ เมื่อรู้สึกเหนื่อยขณะฝึกอาจจะมีการพักเป็นระยะๆ และพยายามหายใจให้เป็นปกติ และไม่พยายามยืดหรือฝืนจนเกินไป ระยะเวลาในฝึกเพียงวันละ 40-60 นาที ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์แล้ว ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายแต่ละคนด้วย

ส่วนข้อควรระวังในการฝึกคือ ต้องระวังใจของเราไม่ให้ล่องลอย ฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งไปเยอะ เพราะช่วงเวลานั้นจิตไม่ได้รับรู้และอยู่กับตัวเรา ทำให้บางทีเมื่อฝึกร่างกายมีความตึงมากไป หรือต้องจับปรับเราก็ไม่รู้ตัว ทำให้มีโอกาสบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ถ้าจิตอยู่กับตัวเสมอ พอเรารู้สึกร่างกายตึงมากเกินไปก็จะสามารถปรับคลาย โอกาสบาดเจ็บจะน้อยลงและการฝึกก็จะสมบูรณ์

เห็นไหมคะว่านอกจากได้สุขภาพกายแล้วยังได้สุขภาพใจอีกด้วย ยังไงลองไปฝึกทำโยคะภาวนากันดูนะคะ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.Required fields are marked *